วิธีแคมป์ปิ้งแบบปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรที่สุด
03 พ.ค. 2023
วัฒนธรรมอาบป่า อาบธรรมชาติ หรือแคมป์ปิ้ง (Camping) เป็นที่เลื่องลือและยอดฮิตมาสักระยะสำหรับคนเมือง เพราะการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ต้องดำเนินไปอย่างเร่งรีบบนพื้นคอนกรีต ท้องถนน และตึกระฟ้า คงดีไม่ใช่น้อยหากวันหยุดได้เอนกายลงบนผืนดิน หายใจลึกๆ เต็มปอดใต้ต้นไม้ มองสายน้ำไหลผ่านอย่างเชื่องช้า
ซึ่งการแคมปิ้งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราเข้าหาธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติเยียวยาและบำบัดกายใจ ขณะเดียวกัน ผู้มาเยือนก็ต้องปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างนอบน้อมที่สุด
ครั้งนี้เราอยากชวนคุณเข้าป่าด้วยวิถี Green Camper ไปแคมป์ปิ้งปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร, ถ้าสงสัยแล้วว่าทำไมต้องปราศจาก ‘ขยะ’ เราขอเล่าที่มาที่ไปพอสังเขป
สถานการณ์ขยะในปัจจุบันถือเป็นเรื่องน่ากังวลถึงขีดสุด ไม่ว่าจะขยะมูลฝอย พลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะล่องลอยกลางทะเล ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้กระทั่งขยะอาหาร ที่เรานึกไม่ถึงว่าอาหารที่เรากลืนลงท้องจะกลายร่างเป็นขยะได้อย่างไร แถมคนหนึ่งคนยังสร้างขยะมากถึง 1.13 กิโลกรัมต่อวัน และชาวกรุงเทพฯ ก็สร้างขยะต่อวันรวมกัน 10,560 ตัน (ข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)
พอเห็นตัวเลขก็แอบตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะการดำเนินชีวิตธรรมดาของเรา เผลอสร้างขยะให้กับโลกมากมายนับไม่ถ้วน นั่นเป็นเหตุผลให้เราควรกิน ดื่ม เที่ยว และดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
วกกลับมาที่วิถี Green Camper เราขอชวนคุณเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมอุปกรณ์ ณ บัดนี้
เตรียมใจ
ทำไมการแคมปิ้งต้องเตรียมใจ
สำหรับมือใหม่ที่กำลังสนใจหรือก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการการแคมป์ปิ้ง ‘เตรียมใจ’ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าธรรมชาติจะมอบอะไรให้กับเราบ้าง บางทีแดดออกจ้าแต่ฝนดันตก เพราะธรรมชาติก็คือธรรมชาติ เราไม่อาจฝืนหรือบังคับ ฉะนั้น จงเตรียมใจ ธรรมชาติจะมอบอะไรให้ก็จงยอมรับและปรับตัว
“เรามองธรรมชาติให้เป็นเรื่องสนุก เรียนรู้กับทุกฤดูทั้งร้อน ฝน หนาว เราเชื่อว่าในหน้าร้อนก็มีข้อดี ความเปียกของหน้าฝนก็มีข้อดี หน้าหนาวที่เราคิดว่าดีเหลือเกิน อาจมีข้อเสียก็ได้ แค่ออกไปเรียนรู้ความเป็นธรรมชาติและปรับตัว เพราะโลกอนาคต คนที่ปรับตัวเก่งคือคนที่จะอยู่รอด ส่วนฝนตก-แดดออก เราห้ามไม่ได้ บางทีก็ต้องยอมแพ้ต่อธรรมชาติ
เตรียมตัว
ใจพร้อม กายก็ต้องพร้อม
การเตรียมตัวที่ว่าเหมือนการกลับมาถามตัวเองว่าเราชอบอะไร อยากแคมป์ปิ้งแบบไหน ซึ่งมีให้เลือกทั้งแคมป์ปิ้งในป่าที่เจอสัตว์ป่านานาชนิด กลางวันเดินเทรคกิ้ง กลางคืนค้างแรมกับธรรมชาติ หรือเริ่มต้นจากพื้นที่กางเต็นท์ (Campground) มีทั้งอุทยานและพื้นที่ที่เอกชนสร้างขึ้นเอง
เตรียมเส้นทาง
เลือกสถานที่แล้ว ก็เตรียมวางแผนการเดินทางได้เลย
ข้อดีของการศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง นอกจากไม่ทำให้หลงแล้ว ยังอาจเจอทางลัดที่ใกล้ที่สุด เพื่ออย่างน้อยการลดระยะเวลาเดินทางสัก 10 – 20 นาที ก็ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งยังไม่รวมถึงก๊าซอื่นๆ อันเป็นมลพิษที่อาจถูกปล่อยจากยานพาหนะระหว่างการเดินทาง
การศึกษาเส้นทางก็เหมือนการรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ไม่ได้หมายความให้สู้รบกับใคร แต่เป็นการวางแผนการเดินทางและรู้จักพื้นที่โดยรอบที่จะไปแคมป์ปิ้งอย่างละเอียด ว่าระหว่างทางมีจุดแวะพัก แวะเที่ยวตรงไหนมีชุมชน ตลาดสด ร้านขายของชำ ให้ฝากท้องหรือจับจ่ายวัตถุดิบอาหารและของใช้จำเป็นหรือเปล่า มีสถานพยาบาล สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือกรณีฉุกเฉินหรือเปล่า พอรู้ถี่ถ้วนก็อุ่นใจ
แคมป์ปิ้งเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่แทบจะไม่สร้างขยะเลย เพราะมีการเตรียมตัววางแผนตั้งแต่แรก
อุปกรณ์แคมป์ปิ้ง จัดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการออกทริปแต่ละครั้ง แต่ละที การไปตั้งแคมป์กันแบบนี้ เราจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ให้กับเรากันเลย ไม่เหมือนการไปพักตามโรงแรมที่ต้องการความสะดวกสบาย แต่แบบนั้น จะไปหาที่ไหน ทำแบบไหน ตอนไหนก็ได้ แต่สำหรับการออกแคมป์ การจัดเตรียมอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวกันมากสักหน่อย
เตรียมอาหาร
มาถึงขั้นตอนสนุกและท้าทาย เข้าครัวประกอบอาหารกลางป่าอย่างไรให้เหลือขยะน้อยที่สุด
เกริ่นก่อนว่าเจ้าขยะเศษอาหาร (Food Waste) น่ากลัวไม่น้อยกว่าขยะพลาสติก เพราะบรรดาพลาสติกยังนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลเป็นสารพัดของเก๋ แต่ขยะเศษอาหารจะลงเอยทับถมกันในหลุมฝังกลบ (Landfill) จนเกิดการเน่าเหม็น กลายเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ยังไม่รวมถึงการสูญเสียพลังงานในการผลิตอาหารก่อนจะมาถึงมือเราที่ต้องสูญเปล่า เพียงเพราะเราต้องทิ้งอาหารที่กินไม่หมด
สถานการณ์ปัญหาขยะอาหารเกิดจากการผลิตและบริโภคมากเกินกว่าความจำเป็น อีกทั้งกรรมวิธีการผลิตรูปแบบต่างๆ อย่างการปลูกข้าวโพด ระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) ก็ส่งผลต่อปัญหานี้ด้วย แถมกระทบถึงคุณภาพดินและธาตุอาหารในดิน เพราะใช้ประโยชน์จากดินแบบผิดประเภท รวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อคงผลผลิตให้เพียงพอต่ออาหารสัตว์ก็ก่อเกิดปัญหาเช่นกัน หนทางง่ายที่สุดคือ ‘พยายามกินอาหารให้หมด’ นั่นหมายความว่า เราต้องบริหารปริมาณอาหารให้พอดีกับท้องและพฤติกรรมการกิน
เตรียมกลับบ้าน
เหล่า Green Camper ต้องเรียนรู้การแยกขยะ โดยแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ จะได้ไม่ปนเปื้อนกับขยะรีไซเคิล เพื่อให้นำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ และควรแยกทิ้งในจุดที่ทางแคมป์กราวน์กำหนดไว้ หรือทิ้งในจุดแยกขยะอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยมีข้อควรระวังคือ ซองบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ขวดน้ำ และทิชชูเปียก โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อาจมีเพื่อนร่วมโลกตัวเล็กๆ ของเราคิดว่ามันคืออาหาร
เราเคยเห็นข่าวสะเทือนใจมากช่วง พ.ศ. 2562 กวางในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สิ้นใจตาย เพราะพลาสติกเต็มท้องกว่า 3 กิโลกรัม มาเรียม พะยูนน้อยตายเพราะปัญหาเดียวกัน เต่าทะเล ปลาวาฬ แมวน้ำถูกอวนทะเลรัดจนเป็นแผลเหวอะ ไมโครพลาสติกลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเล และขยะอีกนับไม่ถ้วนที่ถูกกลืนลงท้องสัตว์น้อยใหญ่
ท้ายที่สุดแล้ว การออกไปแคมป์ปิ้งก็เป็นการรู้จักตนเองและพากาย-ใจ กลับคืนสู่สมดุลภายใต้ธรรมชาติ
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
แคปชั่นแคมป์ปิ้งหน้าฝน: โดนใจสายแคมป์ แม้ฟ้าจะครึ้ม จากใจ Camp One NR
06 ส.ค. 2024
ถึงยุค IGT น้ำหนักเบา พกพาง่าย จาก Comma Nine แล้ว! [Canyon IGT]
29 ส.ค. 2023
Minimal Works “Jack Shelter” เสน่ห์ที่ชาวแคมป์มีสไตล์ทุกคนใช้!
28 มี.ค. 2024
Cargo Container iF Design Award 2024
14 มี.ค. 2024
50 แคปชั่นแคมป์ปิ้ง แคปชั่นกางเต็นท์ ภาษาอังกฤษ คำคมการเดินทางเท่ๆ สายแคมป์ปิ้ง ต้องจด
28 มิ.ย. 2023