ความสำคัญของ ผืนป่าตะวันตก
05 พ.ค. 2023
ป่าตะวันตก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12 ล้านไร่ (ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร) และนับเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถึง 17 แห่ง ทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
ในขณะที่ผืนป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทยอยู่กระจัดกระจายเป็นผืนเล็กผืนน้อย บ้างก็มีชาวบ้านแผ้วถางพื้นที่ทำกินอยู่ใจกลางป่า หรือเข้าใช้ประโยชน์เก็บหาของป่ากันจนป่ามีสภาพทรุดโทรม จนหลายแห่งแทบไม่เหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศนั้นเลย แต่ผืนป่าตะวันตกซึ่งยังคงเป็นป่าเขียวขจีเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ
นอกจากนี้ ผืนป่าตะวันยกยังเป็นเขตการกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่า หรือเขตภูมิศาสตร์สัตว์ (zoogeographical range) ที่หลากหลาย เช่น นกเงือกคอแดง ที่กระจายมาตั้งแต่อินเดีย (India subregion) และสมเสร็จ ซึ่งกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทรมลายู (Sundaic subregion) เป็นต้น
ดังนั้น ทั้งขนาดของพื้นที่และตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นจุดรวมของเขตสัตวภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ผืนป่าตะวันตกมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายของชนิดสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากว่า 150 ชนิด นกมากกว่า 490 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า 90 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า 40 ชนิด และปลามากกว่า 108 ชนิด อย่างไรก็ตาม ความหลากชนิดมิใช่เป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า เพราะชนิดพันธุ์สัตว์ป่าจะยั่งยืนได้จะต้องมีปริมาณประชากรที่มั่นคงเช่นกัน
ผืนป่ากว่าสิบล้านไร่แห่งนี้ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เฉลิมรัตนโกสินทร์ เขื่อนศรีนครินทร์ พุเตย แม่วงก์ คลองลาน คลองวังเจ้า ลำคลองงู เขาแหลม ทองผาภูมิ ไทรโยค โดย 7 จาก 11 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 6 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ห้วยขาแข้ง เขาสนามเพรียง อุ้มผาง และเขตรักษาทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และด้านตะวันออก
ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นูเนสโกจึงประกาศให้กลุ่มป่าตะวันตกเป็นพื้นที่ทางมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 1991
ป่าตะวันตก เป็นกลุ่มป่าที่มีลักษณะป่าหลากหลายประเภท อาทิ ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา ป่าพรุน้ำจืด ทุ่งหญ้า เป็นผลมาจากสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล มีสภาพพื้นที่ที่เป็นยอดเขาสูง แม่น้ำ และถ้ำหินปูน ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะการดำรงชีวิต และถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน
แหล่งน้ำ ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ หรือถ้ำหินปูนต่างๆ ที่เป็นบ้านของค้างคาวนานาชนิด ยกตัวอย่างถ้ำหินปูนในอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นบ้านของค้างคาวคุณกิตติ
พื้นที่ทุ่งหญ้า เป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์กีบ เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า ช้างป่า ฯลฯ ซึ่งสัตว์กีบเหล่านี้ เป็นอาหารให้กับสัตว์ผู้ล่า ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/ดำ หมาใน หมาจิ้งจอก ฯลฯ
โดยสัตว์ป่าและพื้นที่ป่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเป็นระบบห่วงโซ่ ด้วยสภาพพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ จึงส่งผลให้ป่าตะวันตกมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์สูง
พันธุ์พืชมีจำนวนมากกว่า 3,500 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 150 ชนิด นก มากกว่า 490 ชนิด ปลา มากกว่า 108 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน มากกว่า 90 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มากกว่า 40 ชนิด
หากไม่มีป่า ก็ไม่มีสัตว์ป่า และหากไม่มีสัตว์ป่าก็จะไม่มีผู้ทำหน้าที่ทางระบบนิเวศ เช่น ไม่มีนกเงือกผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ ไม่นานหากพันธุ์พืชไม่ก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ก็ไม่สามารถเติมเต็มระบบนิเวศได้ ทั้งป่า และสัตว์ป่า
*เนื้อหาบางส่วนจากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2020 เขียนโดย ดร.เพชร มโนปวิตร
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
แคปชั่นแคมป์ปิ้งหน้าฝน: โดนใจสายแคมป์ แม้ฟ้าจะครึ้ม จากใจ Camp One NR
06 ส.ค. 2024
เปิดวาร์ป!! ตามรอย โอปป้า ซีรีส์ จุดกางเต็นท์ แค้มปิ้ง แคมป์ที่เกาหลี กัน Korea Outdoor Camping, CampOne NR
06 มี.ค. 2023
ทุ่งแสลงหลวง พักผ่อนชิลๆ กับวิวธรรมชาติ
22 มิ.ย. 2023
แนะนำลานกางเต็นท์โซนสระบุรี “Jeab Camp Muaklek”
03 ก.ค. 2023
เทคนิค 5 ขั้นตอน ถ่ายวิดีโอท่องเที่ยวแคมป์ปิ้งด้วยตัวเอง
20 ก.ค. 2023